วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บุคลิกภาพและการพัฒนาบุคลิกภาพในการทำงาน

วงการธุรกิจและอุตสาหกรรมยุคปัจจุบันให้ความสนใจกับบุคลากรในองค์กร เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งของความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กร บุคลากรในองค์กรที่จะถือได้ว่ามีคุณภาพ นอกจากจะต้องมีทักษะประสบการณ์และความรู้ความสามารถในการทำงานตามภาระหน้าที่แล้ว ควรต้องมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมสอดคล้องกับงาน บุคลิกภาพซึ่งเน้นคุณลักษณะเฉพาะตัวของบุคคล จะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งในองค์กรและนอกองค์กร และยังเป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญขององค์กรด้วย อย่างไรก็ตาม คนไทยเราส่วนใหญ่ทั้งที่ดำเนินงานธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเองและที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม อาจขาดลักษณะที่จำเป็นหลายประการเพื่อการดำเนินงานให้เจริญก้าวหน้า ทันกับวิทยาการสมัยใหม่ ทันกับเหตุการณ์ความเป็นไปของโลกที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลักษณะที่จำเป็นดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งคือบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาได้ แม้บางลักษณะอาจจะต้องใช้เวลาและพัฒนาได้ไม่ง่ายนักก็ตาม
ที่จะกล่าวต่อไปนี้จะว่าด้วยความหมายของบุคลิกภาพ ความสำคัญของบุคลิกภาพ การหล่อหลอมบุคลิกภาพ ทฤษฎีบุคลิกภาพ บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ขององค์กร และการพัฒนาบุคลิกภาพ เพื่อให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับบุคลิกภาพ และได้แนวทางในการพัฒนาบุคลิกภาพต่อไป


3.1 ความหมายของบุคลิกภาพ คำว่า “บุคลิกภาพ” (personality) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลที่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างบุคคล ได้มีผู้ให้ความหมายไว้ต่างๆ กันดังต่อไปนี้
เออร์เนส อาร์.ฮิลการ์ด (Hilgard 1962:447) กล่าวว่า บุคลิกภาพเป็นลักษณะส่วนรวมของบุคคล และการแสดงออกของพฤติกรรมซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นปัจเจกบุคคลในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงลักษณะที่ส่งผลสู่การติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้แก่ ความรู้สึกนับถือตนเอง ความสามารถ แรงจูงใจ ปฏิกิริยาในการเกิดอารมณ์ และลักษณะนิสัยที่สะสมจากประสบการณ์ชีวิต
ฟิลลิป จี.ซิมบาร์โด และฟลอยด์ แอล.รูช (Zimbardo and Ruch 1980:292) อธิบายว่า บุคลิกภาพเป็นผลรวมของลักษณะเชิงจิตวิทยาของบุคคลแต่ละคน มีผลต่อการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมหลากหลายของบุคคลนั้น ทั้งส่วนที่เป็นลักษณะภายนอกที่สังเกตได้ง่ายและพฤติกรรมภายในที่สังเกตได้ยาก ลักษณะที่หลากหลายดังกล่าว ส่งผลให้บุคคลแสดงออกต่างกันในแต่ละสถานการณ์และช่วงเวลา
ริชาร์ด ซี.บุทซิน และคณะ (Bootzin and others 1991:502) ให้ความหมายว่าบุคลิกภาพเป็นลักษณะนิสัยและรูปแบบของความคิด ความรู้สึก และการประพฤติปฏิบัติของบุคคลแต่ละคน
อัลชลี แจ่มเจริญ (2530:163) ให้ความหมายว่า บุคลิกภาพหมายถึงลักษณะส่วนรวมของบุคคลทั้งหมด ที่แสดงออกมาปรากฎให้คนอื่นได้รู้ได้เห็น ซึ่งแตกต่างกันเพราะภาวะสิ่งแวดล้อมที่สร้างตัวบุคคลนั้นแตกต่างกันประการหนึ่ง และพันธุกรรมที่แต่ละบุคคลได้มาก็แตกต่างกันไปอีกประการหนึ่ง
จากคำจำกัดความและความหมายของ “บุคลิกภาพ” ที่กล่าวมา สรุปได้ว่า บุคลิกภาพ คือตัวบุคคลโดยส่วนรวม ทั้งลักษณะทางกาย ซึ่งสังเกตได้ง่าย อันได้แก่รูปร่างหน้าตากิริยาท่าทาง น้ำเสียง คำพูด ความสามารถทางสมอง ทักษะการทำกิจกรรมต่างๆ และลักษณะทางจิตซึ่งสังเกตได้ค่อนข้างยาก ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด เจตคติ ค่านิยม ความสนใจ ความมุ่งหวัง อุดมคติ เป้าหมาย และความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ลักษณะดังกล่าวมีที่มาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละคน ส่งผลสู่ความสามารถในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมและความแตกต่างระหว่างบุคคล
จากความหมายของบุคลิกภาพดังกล่าว เมื่อนำมาวิเคราะห์ให้สัมพันธ์กับงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ทั้งด้านการบริหาร การผลิต การจำหน่าย และการให้บริการ โดยพิจารณาบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน จะพบว่าทุกลักษณะของบุคลิกภาพมีอิทธิพลต่อผลการดำเนินงาน โดยมีอิทธิพลมากบ้างน้อยบ้าง จึงอาจให้ความหมายของบุคลิกภาพเชิงอุตสาหกรรมได้ว่า เป็นลักษณะส่วนรวมของบุคคลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดผลดีต่อการดำเนินงานอุตสาหกรรม ทั้งในแง่ของการบริหาร การผลิต การจำหน่าย และการให้บริการในงานอุตสาหกรรม


3.2 ความสำคัญของบุคลิกภาพต่อการดำเนินงานอุตสาหกรรม ริต้า แอล.แอตคินสัน และคณะ (Atkinson and others 1993:489) ได้กล่าวถึงบุคลิกภาพไว้ว่า บุคลิกภาพซึ่งเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของบุคคล ทั้งด้านการคิด อารมณ์ การกระทำ และรูปแบบพฤติกรรม เป็นตัวกำหนดท่าทีปฏิกิริยาของผู้นั้นต่อการแสดงตนในสิ่งแวดล้อม จากคำกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า บุคลิกภาพเป็นสิ่งเอื้ออำนวยต่อการประพฤติปฏิบัติของบุคคลเป็นตัวจักรที่สำคัญยิ่งต่อพฤติกรรม และพฤติกรรมก็เป็นสิ่งรั้งหรือผลักดันให้คนๆนั้นก้าวหน้าหรือถอยหลัง ถ้ายิ่งมีบุคลิกภาพดี คุณค่าของคนๆนั้นก็ย่อมมากขึ้น คำว่าบุคลิกภาพดีในที่นี้ ควรเน้นบุคลิกภาพที่เหมาะสมตามบทบาทหน้าที่และสถานะของบุคคล
ในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยคุณลักษณะส่วนตัวของผู้ดำเนินงานทั้งด้านไหวพริบ ปฏิภาณ การคิดวิเคราะห์ ความมีเหตุมีผล การรู้ทันคน ทันเหตุการณ์ รอบรู้ กล้าได้กล้าเสีย กล้าเสี่ยง พร้อมต่อการพบปะ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทุกประเภท ทุกระดับ ปรับตัวได้โดยรวดเร็วตามบทบาทหน้าที่และสถานะ สายตากว้างไกล ยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง ฯลฯ คุณลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือคุณลักษณะด้านบุคลิกภาพของบุคคลนั่นเอง ซึ่งบางคนมีลักษณะดังกล่าวมาก บางคนมีน้อย ส่งผลให้ดำเนินงานได้ในระดับที่ต่างกันไป นอกจากนั้นในส่วนของบุคลิกภาพภายนอกที่ปรากฏคนอื่นเห็น ทั้งรูปร่าง หน้าตา ท่าทาง การวางตน การแต่งกาย ยังสะท้อนภาพลักษณ์ขององค์กร สร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมในการติดต่อธุรกิจกับผู้อื่น ส่งผลให้กิจการก้าวหน้าได้
อาจกล่าวเป็นข้อๆ ถึงความสำคัญของบุคลิกภาพได้ดังนี้ 3.2.1 บุคลิกภาพมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน บุคลิกภาพในส่วนที่เกี่ยวกับแรงจูงใจ มีอิทธิพลสูงมากต่อการทำงาน ถ้าบุคคลมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง จะเป็นแรงพลังกระตุ้นให้มานะพยายาม ดำเนินงานสู่ความสำเร็จ ทำให้บุคคลมีความอดทน ต่อสู้ บากบั่น ใช้ความสามารถ ลงทุนลงแรง สนใจใฝ่รู้ในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนางานให้เจริญก้าวหน้า แต่ถ้าบุคคลมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ต่ำ ก็จะลงทุนลงแรงน้อยเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายน้อยลงไป ทำให้งานขาดประสิทธิภาพ


3.2.2 บุคลิกภาพกำหนดทิศทางการดำเนินงาน บุคลิกภาพทางด้านความคิดริเริ่ม ด้านกล้าได้กล้าเสีย และด้านความระมัดระวังรอบคอบ มีผลต่อทิศทางการดำเนินงาน ถ้าบุคคลมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สูง มักดำเนินงานโดยคิดค้นความแปลกใหม่ให้กับผลผลิตหรือการให้บริการรวมทั้งการใช้กลยุทธหลากหลายเพื่อการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อเอาชนะคู่แข่งขันและดำรงงานให้คงอยู่หรือก้าวหน้าต่อไป หรือถ้ามีบุคลิกภาพแบบกล้าได้กล้าเสีย บุคคลนี้มักจะยอมลงทุน เสี่ยง กล้าเผชิญกับความล้มเหลว เพราะถ้าได้ก็จะได้มากจนขั้นพลิกผันชีวิตของตนเองได้ แต่จะมีบุคคลบางประเภทที่มีบุคลิกภาพด้านความระมัดรอบคอบสูง บุคคลประเภทนี้ มักจะไม่ลงทุนกับสิ่งที่ไม่แน่นอน และจะทำงานประเภทที่ก้าวได้เรื่อยๆ คือ ก้าวช้าแต่ตนเองรู้สึกว่ามั่นคง


3.2.3 บุคลิกภาพมีผลต่อความน่าเชื่อถือ บุคลิกภาพบางด้าน มีส่วนช่วยสร้างเสริมความน่าเชื่อถือ หรือทำให้บุคคลมี “เครดิต” ในความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าบุคคลเป็นผู้ที่รักษาคำพูด อารมณ์มั่นคง มีเหตุมีผล วางตนได้ถูกต้องตามกาลเทศะ มีน้ำใจ ทำอะไรโดยนึกถึงใจเขาใจเรา บุคคลประเภทนี้ถ้าเป็นหัวหน้าก็จะเป็นที่ยอมรับของลูกน้อง เป็นมิตรที่ดี และสร้างความรู้สึกชอบพอไว้วางใจให้แก่ลูกค้าได้ แต่ถ้าบุคคลมีลักษณะตรงกันข้าม คือไม่น่าเชื่อถือ ก็มักเกิดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน คือผู้อื่นอาจไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อถือศรัทธา ไม่ยอมรับ ไม่ร่วมงานด้วย ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับงานได้ เพราะถ้าไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ ก็ย่อมไม่สามารถดำเนินงานร่วมกับผู้อื่นได้โดยราบรื่น


3.2.4 บุคลิกภาพมีผลต่อการสร้างสัมพันธ์กับผู้ร่วมเส้นทางการทำงานอุตสาหกรรมด้วยกันและกับลูกค้า ลักษณะบุคลิกภาพบางด้านของบุคคล มีส่วนช่วยสร้างเสริมสัมพันธภาพระหว่างบุคคลผู้นั้นกับผู้มาติดต่อเกี่ยวข้องด้วย บุคคลที่มีลักษณะพร้อมเป็นมิตรกับผู้คน ยิ้มแย้ม เป็นกันเอง ทำตัวให้ผู้อื่นเข้าถึงได้ และเต็มอกเต็มใจในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น สนใจความคิดความรู้สึกของผู้อื่น จะเป็นปัจจัยเสริมในการประสานงานและการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ส่งผลสู่ความเจริญก้าวหน้าขององค์การ แต่ถ้ามีบุคลิกภาพที่ขัดกับการสร้างสัมพันธ์ภาพกับผู้อื่น อาจส่งผลเชิงลบต่องานของตนได้
จากที่กล่าวมาเป็นเพียงสังเขปเกี่ยวกับบุคลิกภาพบางประการของนักธุรกิจที่มีผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ต่อทิศทางการดำเนินงาน ต่อความน่าเชื่อถือในตัวบุคคล ต่อการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ร่วมเส้นทางธุรกิจด้วยกัน และกับลูกค้า และยังมีผลในด้านอื่นๆ อีกมากที่ไม่ได้นำมากล่าว


3.3 การหล่อหลอมบุคลิกภาพ บุคลิกภาพเป็นผลสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม บุคลิกภาพบางลักษณะได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรม บางลักษณะได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม และมีบางลักษณะในตัวที่ได้รับผลทั้งจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมประกอบกัน ซึ่งพอจะแยกกล่าวได้ดังนี้


3.3.1 อิทธิพลของพันธุกรรมต่อการหล่อหลอมบุคลิกภาพ 3.3.1.1 อิทธิพลของพันธุกรรมต่อลักษณะทางกาย ลักษณะทางกายที่ได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรม เช่นรูปร่างหน้าตา โครงสร้างของร่างกาย สัดส่วนของอวัยวะต่างๆ ลักษณะผิว สีผม สีของดวงตา และยังรวมไปถึงโรคที่ได้รับทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น โรคศรีษะล้าน ตาบอดสี และโรคเลือดออกไม่หยุด เป็นต้น ลักษณะต่างๆ ดังกล่าวมานี้เป็นเรื่องของธรรมชาติโดยเฉพาะ ได้มาอย่างไร ก็ต้องอยู่อย่างนั้น เปลี่ยนแปลงได้ยาก คือสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อลักษณะเหล่านี้น้อยมาก หรือไม่มีอิทธิพลเลย


3.3.1.2 อิทธิพลของพันธุกรรมต่อความสามารถทางสติปัญญา ความสามารถด้านสติปัญญาของบุคคลนั้น ที่จริงไม่ใช่ เนื่องมาจากพันธุกรรมอย่างเดียว สิ่งแวดล้อมมีบทบาทร่วมด้วย คือ ความสามารถทางสติปัญญาเป็นผลรวมของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมประกอบกัน บุคคลที่ได้รับพันธุกรรมทางสติปัญญามาดี แต่สิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น การอบรมเลี้ยงดู อาหารการกิน สุขภาพกาย สุขภาพจิต โรคภัยไข้เจ็บ เหล่านี้ ย่อมเป็นสิ่งบั่นทอนความสามารถทางสติปัญญา ตรงกันข้าม ในบางคนซึ่งพันธุกรรมที่ได้มาอาจไม่ดี แต่ได้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่นอาหารถูกส่วน สุขภาพดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ การอบรมเลี้ยงดูที่ถูกวิธี ฯลฯ เหล่านี้ ย่อมมีโอกาสพัฒนาความสามารถทางสติปัญญาได้ทั้งนั้น
นอกจากลักษณะทางกายและความสามารถทางสติปัญญาดังได้กล่าวมานี้ นักจิตวิทยาพบว่า พันธุกรรมยังมีบทบาทต่อบุคลิกภาพของบุคคลในด้านอื่นๆ อีกด้วยแม้จะไม่มากนัก เช่น อุปนิสัย ความสามารถหรือความถนัดในกิจกรรมบางอย่าง ลักษณะการพูด กิริยาท่าทาง เช่น เรามักจะได้ยินคนพูดบ่อยๆ ว่า หัวหน้าคนนี้ใจดีเหมือนพ่อของเขา เลขานุการคนนั้นทำงานละเอียดรอบคอบพอๆ กับคุณแม่ของเธอซึ่งเคยทำงานเช่นนี้มาก่อน เป็นต้น คำกล่าวเหล่านี้อาจพอเป็นสิ่งบ่งชี้อิทธิพลของพันธุกรรมต่อบุคลิกภาพบางประการได้บ้าง


3.3.2 อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่อการหล่อหลอมบุคลิกภาพ
สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของบุคคล นอกจากจะหมายถึงอาหารการกิน โรคภัยไข้เจ็บบางอย่างฯลฯ
เรื่องของสิ่งแวดล้อมยังหมายรวมไปถึงประสบการณ์ ซึ่งนับว่าสำคัญมากต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพ หลักฐานที่พิสูจน์ได้ เช่น ผลการศึกษาทางจิตวิทยา พบว่าเด็กฝาแฝดแท้ (identical twins) ซึ่งมีลักษณะทางกรรมพันธุ์เหมือนกันเมื่อถูกจับแยกกันตั้งแต่เล็ก อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ผลพบว่าบุคลิกภาพของแต่ละคนต่างไปจากคู่แฝดของตนมาก จึงเห็นได้ว่าประสบการณ์ที่บุคคลได้รับ นับแต่วัยทารกจนกระทั่งเติบโต สิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน รวมถึงสังคมที่บุคคลได้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ต่างประสมประสานกันสร้างสมบุคลิกภาพให้บุคคล ทำให้คนๆ นั้น มีลักษณะประจำตัวต่างไปจากคนอื่นๆ
ประสบการณ์ที่ช่วยสร้างสมบุคลิกภาพให้กับบุคคลแยกได้เป็น 2 ชนิดคือ ประสบการณ์ร่วมและประสบการณ์เฉพาะ ซึ่งมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพดังนี้


3.3.2.1 อิทธิพลประสบการณ์ร่วม ประสบการณ์ร่วมเป็นประสบการณ์ซึ่งไม่ว่าใครในสังคมนั้นๆ ในวัฒนธรรมนั้นๆ ต่างได้รับเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ค่านิยมของสังคม บทบาทของสังคม บทบาททางเพศ หลักการดำเนินชีวิตโดยทั่วไป ประสบการณ์ร่วมเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อบุคลิกด้านอื่นๆ ของเราอีกมาก เช่น ในแง่ของบทบาททางเพศ เด็กหญิงและเด็กชายซึ่งเรียนรู้บทบาททางเพศมาต่างกัน นอกจากจะมีบุคลิกภาพที่ต่างกันแล้ว บทบาททางเพศยังมีอิทธิพลไปถึงการเลือกงาน เลือกอาชีพ การฝึกทักษะในงานบางอย่างด้วย และลักษณะอาชีพหรืองานที่บุคคลแต่ละคนทำ ก็ยังมีอิทธิไปถึงรสนิยมหรือวิธีการแต่งกาย ภาษาที่ใช้ และการวางตัวในสังคมหรือบทบาททางสังคมด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประสบการณ์ร่วมมีส่วนในการสร้างสมบุคลิกภาพของบุคคลเป็นอย่างมาก และการที่เราทราบประสบการณ์ร่วมของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่นรู้ว่าเขาเติบโตอยู่ในวัฒนธรรมใด มีอาชีพอะไร เป็นชายหรือหญิง ก็จะช่วยให้เราทำนายหรือคาดคะเนบุคลิกภาพของผู้นั้นได้พอประมาณ


3.3.2.2 อิทธิพลของประสบการณ์เฉพาะ ประสบการณ์เฉพาะเป็นประสบการณ์ซึ่งแต่ละคนในสังคมหนึ่งๆ ได้รับมาไม่เหมือนกัน เป็นไปตามแบบฉบับของตนโดยเฉพาะ เช่น พันธุกรรม ขั้นวุฒิภาวะ อิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมก่อนคลอด ลักษณะการทำงานของอวัยวะต่างๆ ระบบต่างๆ ในร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกระบบประสาทและอวัยวะรับสัมผัส อุบัติเหตุที่ได้รับ ความสำเร็จ หรือความผิดหวังที่รุนแรงผิดธรรมดา ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าบุคคลที่มีประสบการณ์เฉพาะต่างกัน แม้จะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน สังคมเดียวกัน ทำงานบริษัทเดียวกันไม่ว่าจะใช้เวลาเหล่านั้นนานเพียงใด แต่ละคนก็ยังมีบุคลิกภาพแตกต่างกันได้ จึงควรยอมรับกันและกันในความแตกต่างระหว่างบุคคล


3.4 ทฤษฎีบุคลิกภาพ ทฤษฎีบุคลิกภาพเป็นคำอธิบายของนักจิตวิทยาเกี่ยวกับบุคลิกภาพอย่างมีระบบระเบียบ ซึ่งมีหลายทฤษฎีด้วยกัน เนื่องจากบุคลิกภาพมีลักษณะซับซ้อนหลายแง่หลายมุม เจ้าของทฤษฎีบุคลิกภาพแต่ละทฤษฎีต่างก็อธิบายบุคลิกภาพในแง่มุมที่ตนสนใจและเห็นว่าสำคัญไม่มีทฤษฎีใดอธิบายได้ครบถ้วนทั้งหมด ดังนั้น ถ้าต้องการความเข้าใจเรื่องบุคลิกภาพโดยกว้างขวาง ก็ต้องศึกษาทฤษฎีบุคลิกภาพหลายๆ ทฤษฎี หรือถ้าต้องการความเข้าใจบุคลิกภาพบางด้านอย่างลึกซึ้งเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในงานบางงานโดยเฉพาะ ก็ต้องเลือกศึกษาบางทฤษฎีโดยละเอียดให้สอดคล้องกับความต้องการ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เรียนจิตวิทยา ความเข้าใจเรื่องทฤษฎีบุคลิกภาพจะช่วยให้มองเห็นทั้งองค์ประกอบของบุคลิกภาพ ประเภทของบุคลิกภาพ หรือประเภทของคนลักษณะต่างๆ รวมทั้งที่มาของบุคลิกภาพและการปรับเปลี่ยนพัฒนาบุคลิกภาพ ทำให้เกิดความเข้าใจบุคคล ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล และเป็นแนวทางในการสร้างเสริมตนเองและผู้ร่วมปฏิบัติงานธุรกิจให้มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมสอดคล้องกับงานของตน ซึ่งจะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในที่นี้จะกล่าวโดยสังเขปถึงทฤษฎีบุคลิกภาพบางทฤษฎี เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดความเข้าใจบุคคลและประยุกต์ใช้ในงานต่อไป ดังนี้


3.4.1 ทฤษฎีลักษณะบุคคลของอัลพอร์ท(Allport’s Trait Theory) ทฤษฎีบุคลิกภาพที่ว่าด้วยลักษณะของบุคคลซึ่งกล่าวถึงกันทั่วไป ได้แก่ ทฤษฎีของกอร์ดอล อัลพอร์ท นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเขามีความเชื่อว่า บุคลิกภาพของบุคคลมีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวและมีความคงที่พอสมควร เป็นอย่างไรก็มักจะอยู่อย่างนั้น และส่งผลสู่การแสดงตัวในภาวะต่างๆ ของบุคคล ทฤษฎีนี้แบ่งประเภทของบุคลิกภาพตามลักษณะร่างกายของบุคคลเป็น 3 พวกคือ


3.4.1.1 พวกมีลักษณะเด่น พวกนี้มักมีร่างกายสูงใหญ่ หรือหน้าตาดี หรือมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ซึ่งอาจเป็นน้ำเสียง ท่าทาง การพูด การเคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งท่าทีปฏิกิริยาต่อผู้อื่น

3.4.1.2 พวกที่มีลักษณะด้อย พวกนี้มักมีรูปร่างเตี้ยหรือตัวเล็ก หน้าตาไม่ดี หรือมีลักษณะบางประการที่เป็นปมด้อยของตน

3.4.1.3 พวกที่มีลักษณะกลาง พวกนี้มักมีร่างกายธรรมดาแบบคนส่วนใหญ่ทั่วไป ลักษณะต่างๆ เป็นกลางๆ ไม่เด่น ไม่ด้อย แต่ก็ไม่มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ มักผสมผสานกลมกลืนไปกับคนส่วนใหญ่
ลักษณะทั้ง 3 ประการดังกล่าว มีผลต่อวิธีการแสดงออกของพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น พวกมีปมด้อย ขี้อาย เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ต้องปรากฎตัวในงานใหญ่ หรือต้องกล่าวในที่ประชุม หรือพบคนแปลกหน้า พวกนี้มักหลีกเลี่ยง วิตกกังวล ทำอะไรเงอะงะผิดพลาด และแยกตัวเอง แต่ถ้าเป็นพวกมีลักษณะเด่น ก็จะเชื่อมั่นในตนเอง แสดงออกได้โดยเหมาะสม สง่าผ่าเผย สิ่งเหล่านี้มักส่งผลให้ทำอะไรได้สำเร็จ หรือเป็นที่ยอมรับทั่วไป สำหรับผู้บริหารหากมีลักษณะเด่นประจำตัวมักเป็นปัจจัยให้งานดีขึ้น แต่ถ้าขาดลักษณะเด่นก็ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นที่จะสร้างความน่าเชื่อถือศรัทธา หรือหาแนวทางฝึกฝนพัฒนาตนให้มีความคล่องตัว ให้เหมาะสมสอดคล้องกับงานตามบทบาทหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในงานที่ทำ


3.4.2 ทฤษฎีพลังบุคลิกภาพของฟรอยด์ (Freud’s Psychodynamic Theory) ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนา เขาให้ความสนใจเรื่องพัฒนาการทางบุคลิกภาพและพลังแห่งบุคลิกภาพของคนเรา ทฤษฎีบุคลิกภาพของซิมันด์ฟรอยด์ อธิบายได้เป็น 2 แบบ คือ อธิบายในลักษณะของทฤษฎีพัฒนาการ และทฤษฎีพลังแห่งบุคลิกภาพ การอธิบายบุคลิกภาพในแง่พลังบุคลิกภาพ ฟรอยด์ อธิบายในรูปของลักษณะของจิตและโครงสร้างของจิต เกี่ยวกับลักษณะของจิต ฟรอยด์อธิบายว่า จิตของคนเรามี 3 ลักษณะ คือ


3.4.2.1 จิตรู้สำนึก (conscious) เป็นสภาพที่บุคคลรู้ตัวว่าเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน ฯลฯ เป็นจิตส่วนที่ควบคุมให้แสดงพฤติกรรมตามหลักเหตุผลและสิ่งผลักดันภายนอกตัว 3.4.2.2 จิตไร้สำนึก (unconscious) เป็นสภาพที่บุคคลไม่รู้ตัว บางทีเพราะลืม เพราะเก็บกด หรือเพราะไม่ตระหนักในตนว่ามีสิ่งนั้นอยู่ เช่น ไม่รู้ตัวว่าอิจฉาเพื่อน หรือลืมว่าตนเองเกลียดบางอย่าง 3.4.2.3 จิตใต้สำนึก (subconscious) เป็นสภาพจิตกึ่งรู้สำนึก ถ้าเข้ามาในห้วงนึกก็จะตระหนักได้ แต่ถ้าไม่คิดถึงจิตส่วนนั้นจะเหมือนกับไม่มีตนเอง เช่น อาจกังวลในบางเรื่อง กลัวในบางสิ่ง โกรธคนบางคน
จิตทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าว ชนิดไหนมีอำนาจเหนือกว่า บุคคลนั้นๆ ก็มักจะแสดงพฤติกรรมหนักไปทางจิตส่วนนั้น และจิตไร้สำนึกดูจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมากกว่าจิตส่วนอื่น ส่วนจะแสดงพฤติกรรมออกไปในลักษณะใด มักขึ้นกับโครงสร้างของจิต ซึ่งมี 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ อิด (id) อีโก้ (ego) และซุปเปอร์อีโก้ (super ego) คำว่า “อิด” เป็นพื้นฐานดั้งเดิมของบุคคล เช่น ความอยาก ตัณหา ความต้องการ ความป่าเถื่อน อันถือเป็นธรรมชาติแท้ๆ ยังไม่ได้ขัดเกลา “อีโก้” เป็นพลังส่วนที่จะพยายามหาทางตอบสนองความต้องการของอิด และ “ซุปเปอร์อีโก้” เป็นพลังที่คอยควบคุม อีโก้ ให้อีโก้ หาหนทางที่เหมาะสมที่สุดในการสนองความต้องการของ อิด โดยเหนี่ยวรั้งให้ทำอะไรอยู่ในกรอบประเพณี ถูกเหตุถูกผลให้คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี คุณธรรม และสังคมที่แวดล้อม
ความเข้าใจบุคลิกภาพตามทฤษฎีพลังบุคลิกภาพนี้ ช่วยให้ผู้บริหารเกิดความเข้าใจตนเอง เข้าใจเพื่อนร่วมงานได้ในหลายลักษณะ เป็นแนวทางให้รู้จักควบคุมประคับประคองตนเองให้มีสติ ยั้งคิด ไม่อยู่ไต้อำนาจครอบงำของธรรมชาติแท้ๆ ที่ยังมิได้ขัดเกลามากไป ซึ่งถ้าทำได้ ก็จัดเป็นส่วนหนึ้งของการพัฒนาบุคลิกภาพและพัฒนาตนให้พร้อมต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ


3.4.3 ทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Freud’s Developmental Theory) การอธิบายบุคลิกภาพในลักษณะของทฤษฎีพัฒนาการ โดยฟรอยด์ อธิบายว่า พัฒนาการในวัยแรกๆ ของชีวิตมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพเมื่อโต ลักษณะที่ปรากฎในวัยแรกๆ เช่น วิธีการปรับตัว การแก้ปัญหา อาจติดตัวผู้นั้นไป กลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ไม่เปลี่ยนไปตามประสบการณ์และวุฒิภาวะ ลักษณะที่ติดไปนี้ อาจเกิดเฉพาะลักษณะใดลักษณะหนึ่งของบุคลิกภาพ ไม่เป็นทั้งหมดของบุคลิกภาพก็ได้
ตามลักษณะทฤษฎีพัฒนาการ ฟรอยด์แบ่งบุคลิกภาพของบุคคลเป็น 2 แบบคือ


3.4.3.1 บุคลิกภาพแบบถูกจูงใจ (compulsive personality) เป็นลักษณะบุคลิกภาพที่เจ้าตัวมีแนวโน้มจะกระทำทั้งที่รู้ตัวว่าไม่ควรทำ แต่มักห้ามใจตนเองไม่ได้ลักษณะเช่นนี้ ได้รับอิทธิพลมาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งมีศูนย์ความพอใจอยู่ที่ส่วนต่างๆ ตามขั้นพัฒนาการ ศูนย์ความพอใจตามขั้นพัฒนาการตามแนวคิดของฟรอยด์ซึ่งมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ ที่สำคัญมีดังนี้
1. ความพอใจที่ปาก เป็นระยะขวบแรกของชีวิต ความสุขและความพอใจอยู่ที่การได้ดูด อม กลืน ได้ใช้ปากในลักษณะต่างๆ ถ้าระยะที่เป็นเด็กถูกควบคุม ถูกห้ามมากไป ความต้องการทางปากไม่ได้รับการตอบสนอง อาจเกิดลักษณะพฤติกรรมชดเชยเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เช่น ใช้ปากมากเกินไป พูดมาก กินจุบกินจิบ ขี้บ่น หรือดูดนิ้ว กัดเล็บ
2. ความพอใจที่ทวารหนัก เกิดในระยะขวบที่ 2 ของชีวิต ศูนย์ความสุขความพอใจอยู่ที่ได้ขับถ่ายตามใจชอบหรือได้กลั้นเอาไว้ แต่ถ้าถูกฝึกหัดให้ขับถ่ายแบบเข้มงวดเกินไป จู้จี้เกินไป พฤติกรรมอาจติดออกมาในรูปของการระวังตัว กระเห็ดกระแหม่ หรือสะอาดมากจนเกินพอดีไป
3. ความพอใจที่อวัยวะเพศ เป็นระยะ 3-5 ปี ความพอใจเกิดจากการได้จับต้อง ได้เล่นอวัยวะเพศของตนเอง ถ้าเด็กถูห้ามเล่น ห้ามจับต้องอวัยวะเพศอย่างเข้มงวด ถูกลงโทษอย่างรุนแรงเมื่อเล่นเมื่อจับต้อง โตขึ้นอาจชดเชยในเรื่องเพศมากไป เช่นชอบเที่ยวซุกซน แสดงออกในทางความต้องการด้านเพศมากเกินพอดี
3.4.3.2 บุคลิกภาพแบบชอบแสดงอำนาจเผด็จการ (authoritarian personality) ฟรอยด์อธิบายว่าเกิดเนื่องจากในวัยเด็กถูกเลี้ยงแบบกดขี่ ถูกบังคับควบคุมมากจึงเกิดความคิดว่าพ่อแม่ผู้ใหญ่หรือคนอื่นไม่ต้องการตน ทำให้อยากทำร้ายคนอื่น แต่ทำไม่ได้ต้องเก็บกดเอาไว้ เมื่อเป็นผู้ใหญ่จึงหาทางระบายออก คนประเภทนี้มักมองคนอื่นในแง่ร้าย ใจแคบ หัวโบราณ ชอบสั่งการ ทำอะไรตามใจตนเอง ชอบกล่าวร้ายถากถางประทุษร้ายคนอื่น ชอบแสดงอำนาจต่อคนอื่น ในหน่วยงานถ้ามีพนักงานลักษณะนี้ หากเป็นหัวหน้างานก็มักเป็นหัวหน้าที่ชอบสั่งการ ไม่ค่อยรับฟังความเห็นของผู้อื่น แต่ถ้าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ก็มักเป็นประเภทดื้อ ก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง
การอธิบายบุคลิกภาพตามทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของฟรอยด์นี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจเรื่องที่มาของบุคลิกภาพซึ่งได้มาจากประสบการณ์แต่วัยเด็ก อันเป็นแนวทางให้เกิดการยอมรับตนเองและรอยรับผู้อื่นได้มากขึ้น เพราะการกระทำทุกอย่างมักมีที่มารวมทั้งลักษณะนิสัยของบุคคลด้วย การยอมรับดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ในองค์การและช่วยให้เกิดการปรับตัวในการทำงานร่วมกัน


3.4.4 ทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของอีริคสัน (Erikson’s Developmental Theory) อิริคสัน เป็นนักจิตวิทยาชาวเวียนนาอีกผู้หนึ่งที่ไปใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกา ทฤษฎีของเขาเน้นความสำคัญของพัฒนาการทางสังคมต่อบุคลิกภาพของบุคคล ทฤษฎีนี้อธิบายว่า บุคลิกภาพของบุคคล เป็นผลเนื่องมาจากวุฒิภาวะบวกกับการเรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม และบุคลิกภาพของบุคคลจะเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับพัฒนาการตามขั้นตอน ซึ่งมีทั้งหมด 8 ขั้นด้วยกัน ดังนี้
ขั้นที่ 1 ปีแรกของชีวิต เป็นช่วงพัฒนาการเกี่ยวกับความรู้สึกไว้ใจและไม่ไว้ใจ ระยะนี้ถ้าต้องการได้รับการตอบสนองด้วยดี ได้รับความอบอุ่น ความสนใจจากผู้ใหญ่ เขาจะมองสิ่งแวดล้อมในแง่ดี ไว้วางใจผู้อื่นซึ่งจะติดไปจนเป็นผู้ใหญ่ แต่ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบตรงกันข้าม เมื่อเป็นผู้ใหญ่มักมองคนในแง่ร้าย ไม่ไว้วางใจใคร ซึ่งลักษณะเหล่านี้ส่งผลมากต่อการทำงานและการปรับตัวในสังคมการทำงาน
ขั้นที่ 2 วัย 2-3 ขวบ เป็นพัฒนาการด้านความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองหากถูกเลี้ยงโดยผู้ใหญ่ผ่อนปรนให้เขาช่วยตัวเองเรื่องกิน แต่งตัว ทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ เขาจะรู้สึกมั่นใจในตนเอง แต่ถ้าถูกบังคับให้อยู่ในเกณฑ์มากเกินไป เคร่งระเบียบมากไป โดนดุว่าบ่อยๆ เขาอาจท้อแท้ มองตนเองว่าไม่มีความสามารถ ไม่มั่นใจในตนเอง ที่สุดเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็มักขาดความเชื่อมั่นไม่กล้าตัดสินใจ ไม่สู้ชีวิต ขาดความพยายาม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่องาน
ขั้นที่ 3 อายุ 3-5 ขวบ เป็นวัยอยากรู้อยากเห็น ช่างคิด ช่างซักถาม ซึ่งบางทีก็คิดหรือถามในสิ่งไม่สมควร เมื่อถูกดุว่าเขาจะรู้สึกผิด ต่อไปไม่กล้าคิดไม่กล้าถาม จึงอาจเป็นคนไม่มีความคิดริเริ่ม แต่ถ้าผู้ใหญ่ยอมสนองความอยากรู้อยากเห็นของเขาบ้าง อธิบายด้วยถ้อยคำง่าย ชี้แจงเหตุผลสิ่งควรไม่ควร ก็จะช่วยพัฒนาสติปัญญาและความคิด ซึ่งส่งผลสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออก ซึ่งเหมาะสมกับบุคลิกภาพในการทำงาน
ขั้นที่ 4 อายุ 6-12 ปี วัยนี้ ถ้าทำอะไรได้รับผลดี จะภาคภูมิใจ แต่ถ้าผิดหวังจะเกิดความรู้สึกด้อย อาจมองตนเองต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลสู่การขาดความเชื่อมั่นในวัยผู้ใหญ่ ถ้าเป็นนักธุรกิจ พ่อค้า ก็มักเป็นประเภทไม่กล้าตัดสินใจนัก ผิดกับผู้ที่เติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตนเอง ถ้าเป็นนักธุรกิจก็มักมีความเชื่อมั่นสูง กล้าได้กล้าเสีย
ขั้นที่ 5 อายุ 13-17 ปี ระยะวัยรุ่น สนใจตนเองมากเป็นพิเศษถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม บางคนว้าวุ่น ไม่แน่ใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง มีพฤติกรรมเป็นปัญหา แต่ถ้าพัฒนาการในขั้นที่แล้วๆ มาดี ถึงวัยนี้มักมองตนเองด้วยความเป็นจริง รู้บทบาทหน้าที่ตนเองดี มีความรับผิดชอบต่อเนื่องไปถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการทำงาน
ขั้นที่ 6 อายุ 18-22 ปี พัฒนาการวัยนี้มักขึ้นกับวัยต้นๆ ถ้าวัยต้นมองสิ่งแวดล้อมในแง่ดี วัยนี้จะปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ดี แต่ถ้าตรงข้ามก็มักจะแยกตัวจากเพื่อนจากสังคม ปรับตนไม่เหมาะสม อาจมีพฤติกรรมเป็นปัญหาในวัยผู้ใหญ่
ขั้นที่ 7 อายุ 20-40 ปี อาจมีความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่หรือในบางรายก็เฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น ไม่ขยันหมั่นเพียร ขั้นนี้จะเป็นอย่างไร มักเป็นผลสืบเนื่องมาจากขั้นต้นๆ ที่ผ่านมา
ขั้นที่ 8 อายุ 40 ปีขึ้นไป วัยนี้ถ้าช่วงต้นๆ มีพัฒนาการมาดีจะเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ มีความรับผิดชอบสูง กล้าเผชิญปัญหา ทำประโยชน์ต่อสังคม มองโลกด้วยสายตาที่เป็นจริง มีวุฒิภาวะของความเป็นผู้ใหญ่
จากคำอธิบายของทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของอีริคสันนี้ จะเห็นได้ว่า บุคลิกภาพด้านความเชื่อมั่น ความกล้า ความมานะอดทน ความกระตือรือร้น มีที่มาจากการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น ให้กำลังใจ ให้โอกาส ยอมรับ และสนับสนุนให้ได้รับความสำเร็จ ซึ่งที่จริงแล้วไม่เฉพาะเด็กเท่านั้นที่จะได้รับผลดังกล่าว ในผู้ใหญ่วัยทำงานโดยทั่วไป ถ้าได้ทำงานในบรรยากาศที่อบอุ่น เสริมกำลังใจ ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นและอื่นๆ อันเป็นบุคลิกภาพในการทำงานได้ ทฤษฎีนี้ นอกจากช่วยให้เกิดความเข้าใจที่มาของบุคลิกภาพทางสังคมแล้ว ยังอาจให้แนวคิดในการพัฒนาบุคลิกภาพในการทำงานได้


3.4.5 ทฤษฎีการรับรู้ตนของโรเจอร์ (Rogers’Self Theory) โรเจอร์ (Carl Rogers) เป็นนักจิตวิทยากลุ่มมนุษย์นิยม ซึ่งมีความเชื่อว่าบุคลิกภาพเป็นผลรวมทั้งทางร่างกายและจิตใจ การเข้าใจบุคลิกภาพต้องเข้าใจทั้งสองส่วนรวมกัน ทฤษฎีการรับรู้ตนของโรเจอร์ อธิบายบุคลิกภาพของบุคคลจะแสดงออกอย่างไรขึ้นอยู่กับการรับรู้ตนเอง คำว่าการรับรู้ตนเองในที่นี้หมายถึงความคิดหรือความเข้าใจที่เกี่ยวกับตนเองอันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ในการกระทำของตนหรือจากท่าทีปฏิกิริยาที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อ
คำว่า “ตน” ในคำอธิบายของทฤษฎีการรับรู้ตน แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ


3.4.5.1 ตนในอุดมคติ (ideal self) เป็นตนในความคิดที่บุคคลอยากจะเป็น มักเกิดกับบุคคลที่ใฝ่ฝันอยากเป็นบางลักษณะที่ตนไม่มี ไม่พอใจตนเอง ไม่ยอมรับในสภาพของตนเอง อยากเปลี่ยนแปลงตนเอง บุคคลประเภทนี้บางคนแอบคิด แอบฝัน บางคนมีปัญหาพฤติกรรม แต่บางคนใช้ความพยายามให้ทำได้ตามที่ใฝ่ฝันตนตามการรับรู้ (perceive self) คำนี้บางคนเรียกว่าตนในสายตาตน ซึ่งบุคคลมักแสดงออกตามความเข้า ใจตนเอง เช่น มองตนว่าเป็นคนที่ทำงานดี ก็มักใช้ความพยายามทำงานให้ดี ถ้ามองตนว่ารับผิดชอบ ก็มักคงมั่นในหน้าที่ ไม่ละทิ้งงาน เป็นต้น
ตนที่แท้จริง (real self) เป็นตนจริงที่บุคคลมองตัวเอง บุคคลที่มีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงถึงลักษณะและศักยภาพของตนทั้งจุดดีและจุดด้อย มักพยายามที่จะพัฒนาลักษณะและศักยภาพนั้นจนเต็มสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็มักยอมรับในบางลักษณะที่เป็นจุดด้อย บุคคลที่มองตนเองด้วยสายตาที่แท้จริง มักเป็นคนมีเหตุผล สามารถนำลักษณะที่ดีของตนมาใช้ประโยชน์แก่ตนแก่งาน และมักมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น เพราะยอมรับในจุดลบของตนเอง ช่วยให้ทำงานได้ตามสบาย ไม่ต้องคอยปกป้องตนเอง และไม่โกรธเมื่อมีใครวิจารณ์ในจุดลบ เนื่องจากยอมรับตนเองแล้ว
ทฤษฎีการรับรู้ตนของโรเจอร์นี้ แสดงให้เป็นอิทธิพลของความคิดเกี่ยวกับตนเองต่อการกระทำและการแสดงออก ซึ่งเป็นแนวคิดให้บุคคลมองตนด้วยสายตาที่แท้จริง เพื่อนำจุดดีมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ และเพื่อให้ยอมรับในบางจุดลบที่ตนเองยังไม่พร้อมจะเปลี่ยน กับเพื่อให้เกิดพลังใจ เกิดความพยายามในการพัฒนาตนให้ถึงเป้าหมายของตนในอุดมคติต่อไป


3.4.6 ทฤษฎีการวิเคราะห์ของจุง (Jung’s Analytic Theory) จุง (Carl G.Jung) เป็นจิตแพทย์ชาวสวิต เขามีความเชื่อว่า บุคลิกภาพของคนเราซึ่งแต่ละคนมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้น มีการสะสมต่อเนื่องมาตลอดนับแต่เริ่มมีชีวิต แต่เขาไม่สู้จะให้ความสำคัญกับเรื่องเพศและอดีตที่ฝังใจเหมือนทฤษฎีของฟรอยด์ เขาเน้นความสำคัญที่ประสบการณ์จากการดำเนินชีวิตของคนเรา โดยเห็นว่ามีส่วนสร้างสมบุคคลมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วบุคลิกภาพของบุคคลมีเป็น 2 แบบ แต่ละแบบเหมาะสมกับงานต่างๆ กันดังนี้


3.4.6.1 บุคลิกภาพแบบแสดงตัว (extrovert) บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบนี้จะชอบสังคม ชอบเด่น ชอบแต่งตัวดีๆ ชอบนำตัวไปพัวพันกับสิ่งแวดล้อมหรือกับบุคคลอื่นโดยทั่วไป เป็นคนเปิดเผย ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบเก็บตัว ไม่ชอบอะไรที่ซ้ำซากจำเจ เปลี่ยนแปลงความเคยชินหรือลักษณะนิสัยของตนเองได้ง่ายเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การแสดงออกของอารมณ์เห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าจะโกรธ เศร้าโศก ดีใจ เสียใจ หรือเบื่อหน่ายอะไร มีอารมณ์อ่อนไหวเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คนประเภทนี้เหมาะกับงานพวกประชาสัมพันธ์หรืองานที่จะต้องติดต่อประสานงานกับคนอื่น


3.4.6.2 บุคลิกภาพแบบเก็บตัว (introvert) บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักทำหรือคิดโดยผูกพันกับตนเองมากกว่าบุคคลอื่นหรือสิ่งแวดล้อมอื่น ไม่ชอบสังสรรค์ ไม่ชอบสังคม ไม่ชอบทำตัวเด่นเมื่ออกงาน ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบทำอะไรตามกฎเกณฑ์และแบบแผนที่วางเอาไว้ มีหลักการที่แน่นอนในการที่จะควบคุมตนเอง บุคคลประเภทนี้เหมาะกับงานควบคุมระบบ งานบัญชี หรือจัดระเบียบในหน่วยงาน
จากลักษณะบุคลิกภาพทั้งสองแบบที่กล่าวมานี้ บุคคลบางคนไม่ถึงกับโน้มเอียงไปในลักษณะใดลักษณะหนึ่งโดยเฉพาะ คือ เป็นกลางๆ ไม่ชอบเก็บตัวมากไปและไม่ชอบแสดงออกมากไป ดร.จุง เรียกพวกที่ 3 นี้ว่า บุคลิกแบบกลางๆ (ambivert) ซึ่งพวกนี้อาจจะทำงานใดๆ ก็ได้ แต่มักทำได้ในระดับธรรมดาไม่เด่น แต่ก็ทำไม่ได้ดีนัก เป็นพวกที่ผสมผสานอยู่ในคนส่วนใหญ่ทั่วไป
ในแง่ของการทำงาน ทฤษฎีการวิเคราะห์ของจุงที่ว่าด้วยแบบของบุคลิกภาพอาจเป็นแนวคิดในเรื่องการจัดวางตัวบุคคลให้เหมาะสมสอดคล้องกับงาน เนื่องจากบุคลิกภาพแต่ละประเภทมักเหมาะกับงานและกิจกรรมที่แตกต่างกันดังได้กล่าวไว้แล้ว ขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นแนวทางให้บุคคลบางคนต้องทำงานซึ่งขัดกับบุคลิกภาพของตน ได้พัฒนาตนเองในบางด้านเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทฤษฎีบุคลิกภาพทั้ง 6 ทฤษฎีที่นำมากล่าวไว้ในที่นี้ ให้ประโยชน์ในการนำไปใช้ในการทำงานได้ต่างกัน บางทฤษฎีช่วยให้เกิดความเข้าใจในตนเอง บางทฤษฎีช่วยนำไปสู่การพัฒนาตนเอง พัฒนาพนักงาน และบางทฤษฎีช่วยในการตัดสินใจในการเลือกงานและการจัดวางตัวบุคคลซึ่งจะเห็นได้ว่าทฤษฎีจิตวิทยาที่ว่าด้วยบุคลิกภาพนี้ให้ประโยชน์ต่องานธุรกิจได้ในหลายประการแล้วแต่การเลือกนำไปใช้
3.5 บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ในการทำงาน ในการดำเนินงาน จะมีทั้งงานการผลิต การบริหารการขาย การให้บริการ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในแต่ละงานจะอาศัยคุณลักษณะที่แตกต่างกันไป บางงานอาศัยลักษณะส่วนที่เป็นบุคลิกภาพภายในมาก บางงานอาศัยส่วนที่เป็นบุคลิกภาพภายนอกมาก แต่โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่าบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ในงานอุตสาหกรรมควรประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
1. ความเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด ช่างสืบค้น ช่างแสวงหาคำตอบในปัญหาทุกสิ่งทุกอย่าง บุคคลที่ประสบความ สำเร็จ มักเป็นคนประเภทที่บอกตนเองอยู่เสมอว่า ไม่มีสิ่งใดที่เขาไม่รู้ ไม่มีปัญหาใดที่ตอบไม่ได้ ไม่มีงานใดที่ทำไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดที่จะเอาชนะไม่ได้ ฯลฯ ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้บุคคลมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทั้งทางด้านความคิดและการกระทำ
2. ความเป็นผู้ไม่อยู่นิ่งเฉยกับที่ แต่หนักแน่น คือ ชอบการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้ได้อะไรแปลกใหม่อยู่เสมอ แต่จะยังไม่เปลี่ยนหากยังขาดข้อมูลที่เด่นชัดว่าเปลี่ยนแล้วจะต้องไปเผชิญอะไรข้างหน้า
3. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทั้งนี้เนื่องจากงานในอุตสาหกรรมเป็นงานที่แข่งขัน ถ้าองค์กรใดมีบุคคลที่มีความคิด ริเริ่มสร้างสรรค์ หาวิธีการแปลกใหม่ก็จะทำให้งานก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
4. มีหัวใจเป็นคนทำงาน คือใช้สมองและความคิดในการทำงาน คำนวณผลประโยชน์ที่ได้รับ คำนึงถึงผลเสียที่อาจ จะเกิดขึ้น
5. มีหัวใจเพื่องาน คือมีใจรักในการทำงาน ทำงานเพื่องาน มิใช่ทำงานเพื่อแลกกับค่าแรงหรือเงินเดือนเพียงอย่าง เดียว แต่มีความตั้งใจทำงาน สู้งาน และผูกพันกับงานที่ตนรับผิดชอบอยู่
6. มีมนุษยสัมพันธ์ดี ทั้งนี้จะพบว่าในวงการการทำงานเน้นมนุษยสัมพันธ์มากโดยเฉพาะในเรื่องของการสื่อสาร เนื่องจากการทำงานไม่เพียงแต่จะเข้ากับบุคคลอื่นได้ ยังต้องสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้เป็นอย่างดีและสอนงานคนอื่นได้ด้วย องค์การทำงานมักไม่นิยมคนเก่งที่ถ่ายทอดหรือสอนงานหรือทำงานกลุ่มไม่เป็น
7. มีลักษณะผู้นำ ทั้งนี้เนื่องจากความสามารถในการนำเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับผู้ทำงาน เนื่องจากงานที่ดีจะต้องมี ความเจริญก้าวหน้า ขยายกิจการและสาขาใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่มีความรู้ความสามรถ และมีประสบการณ์ในการทำงานมานาน เมื่อได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ถ้าหากเขาเป็นผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำสูงย่อมนำพาธุรกิจให้ก้าวหน้าได้ดีกว่า
8. มีความเป็นระเบียบและมีวินัย ลักษณะในส่วนนี้จะส่งผลให้มีความรับผิดชอบ ตรงเวลา ทำงานอย่างมีเป้าหมาย ที่ชัดเจน สามารถคาดคะเนความสำเร็จได้ล่วงหน้าและรู้จักทำงานอย่างมีแผน มีระบบงานที่ดี
9. แสดงออกได้โดยเหมาะสมตามกาละเทศะอันควร ผู้บริหารแสดงตนได้เหมาะสมทั้งการแต่งกาย การเข้าสมาคม ท่าทางการเดิน การพูด อิริยาบถต่างๆ ตลอดจนความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม จะช่วยเสริงสร้างตนเองให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ที่ต้องติดต่อเกี่ยวข้อง
10. มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับภาวะแวดล้อมได้ดี คือมีความสามารถในการวางตนและปฏิบัติงานให้ผสมกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมทั้งบุคคล เวลา สถานที่ และสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา


3.6 การพัฒนาบุคลิกภาพในการทำงาน บุคลิกภาพของบุคคลมิใช่เรื่องตายตัวเสมอไป เปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาได้ ตามบทบาทและอาชีพที่ดำเนินอยู่ การพัฒนาบุคลิกภาพในการทำงานอาจแบ่งได้เป็น 3 ด้าน ด้วยกันคือ การพัฒนาบุคลิกภาพโดยทั่วไป การพัฒนาบุคลิกภาพด้านการเป็นผู้นำ และการพัฒนาบุคลิกภาพด้านความเป็นผู้ใหญ่ สำหรับความเป็นผู้นำนั้น ได้กล่าวไว้แล้วในบทที่ผ่านมา ดังนั้นในที่นี้จะกล่าวถึงการพัฒนาบุคลิกภาพโดยทั่วไปและบุคลิกภาพด้านความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมีแนวทางการพัฒนา ดังต่อไปนี้

3.6.1 การพัฒนาบุคลิกภาพโดยทั่วไป
3.6.1.1 การพัฒนาบุคลิกภาพทางกาย ควรใช้เครื่องแต่งกายที่สะอาดเรียบร้อย ใช้ให้เหมาะสมกับรูปร่างของตน ไม่ฟู่ฟ่าหรือนำสมัยจนเกินไป บุคลิกภาพทางกายเป็นสิ่งประทับใจครั้งแรกถ้าใครโดนวิจารณ์ว่าเห็นใหม่ๆ ไม่ชอบ แต่พอใกล้ชิดแล้วจึงรู้ว่าน่าคบ
นอกจากการดูแลตนเองเรื่องการแต่งกายและความสะอาด ควรตรวจสอบตนเองเกี่ยวกับภาษาและกิริยาท่าทางด้วย ดังคำพังเพยที่ว่า “สำเนียงบอกภาษา กิริยาบอกสกุล” คำพังเพยนี้ยังใช้ได้ดีอยู่แต่บุคคลก็ต้องไม่ลืมว่า หากใครมีชาติกำเนิดหรือมีพื้นฐานดั้งเดิมที่ไม่ดีนัก กิริยาท่าทางและภาษาที่ใช้ประจำของตนก็สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ มารยาทดี ภาษาดี ไม่จำเป็นต้องมาจากรากฐานชาติสกุลที่ดีเสมอไปทุกคนพัฒนาได้
3.6.1.2 การพัฒนาบุคลิกภาพทางสติปัญญา ความรู้สึกนึกคิด เจตคติ และความสนใจ ผู้ทำงานโดยทั่วไป ไม่จำเป็นจะต้องฉลาดเฉลียวมีไหวพริบสูงเสมอไป จึงจัดว่ามีบุคลิกภาพดี ถ้าทุกคนฉลาดมากเท่ากันไปหมด คิดอะไรเหมือนๆ กัน สนใจสิ่งคล้ายๆ กัน โลกคงน่าเบื่อ ดังนั้นเมื่อบุคคลคิดว่าตนเองมีความสามารถด้านใดเป็นพิเศษก็มุพัฒนาด้านนั้น แต่ก็ไม่ควรละเลยที่จะสะสมความรอบรู้หรือความสนใจด้านอื่นๆ ด้วย เพราะจะทำให้มีความคิดและความสนใจที่กว้างขึ้น อันเป็นสิ่งจูงใจให้มีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น มีคนอยากคบอยากสนทนาด้วยมากขึ้น และมีความมั่นใจในตนเอง คุยกับใครๆ คบกับใครๆ ได้สบายใจ ดังนั้นการมีส่วนร่วมในการทำงานของสโมสร สมาคม และองค์การต่างๆ ร่วมในการกีฬาการละเล่น หรือในกิจกรรมต่างๆ จะทำให้เป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ กว้างขวางขึ้น เชื่อมั่นในตนเอง
3.6.1.3 การพัฒนาบุคลิกภาพทางอารมณ์ บุคคลที่ต้องการจะพัฒนาบุคลิกภาพทางอารมณ์ อาจเริ่มต้นโดยสังเกตและคิดหาเหตุผลจากพฤติกรรมของเด็กในตัวเด็กจะมีการแสดงอารณ์ต่างๆ การแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กจะเป็นไปตามธรรมชาติ เช่น เมื่อรักเมื่อชอบก็จะแสดงความเป็นเจ้าของในสิ่งที่รักหรือชอบอย่างเต็มที่ เมื่อโกรธ เกลียดไม่ชอบก็แสดงออกมาไม่ปิดบัง อารมณ์เหล่านี้เมื่อบุคคลเห็นเด็กแสดง มักรู้สึกว่าไม่สมควรทำและพยายามให้เด็กหยุดพฤติกรรมดังกล่าวนั้น ซึ่งถ้าผู้ใหญ่เป็นผู้แสดงพฤติกรรมดังกล่าวเสียเอง สังคมก็น่าจะไม่ยอมรับ ดังนั้นวิธีการที่ดีก็คืออย่าปล่อยให้มีอารมณ์พลุ่งพล่าน เพราะจะทำให้บุคคลก้าวร้าวหยาบคายต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้บริหาร ลูกค้า และบุคคลทั่วไป หรือแม้แต่การแสดงออกซึ่งความรักความชอบก็ควรจะสำรวมให้อยู่ในระดับที่พอดีเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปด้วย
3.6.1.4 การพัฒนาบุคลิกภาพทางสังคม บุคลิกภาพทางสังคม เช่น กิริยาท่าทาง น้ำเสียง ภาษาพูด การแต่งกาย และการวางตน เป็นปัจจัยเบื้องต้นที่จูงใจให้บุคคลอื่นๆ อยากคบหาสมาคมด้วย แต่ก็เป็นเพียงเบื้องต้น เท่านั้น ปัจจัยที่จะทำให้มิตรภาพยั่งยืนมาจากคุณสมบัติที่อยู่ภายในตัวบุคคล เช่น น้ำใจที่ให้ผู้อื่น ความไม่เห็นแก่ตัว ความซื่อสัตย์ ความบริสุทธิ์ใจ การรู้จักใจเขาใจเรา ความเป็นคนตรงต่อเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้บุคคลควบคุมตนเองให้ประพฤติปฏิบัติได้ และเมื่อทำไปนานๆ ก็จะเกิดความเคยชิน และกลายเป็นลักษณะประจำตัว
เกี่ยวกับการแสดงออกทางสังคมนี้ มีแนวคิดที่ไม่ตาย ยังเป็นที่ยอมรับนับถือในสังคมสมัยใหม่ ได้แก่ หลักการพัฒนาบุคลิกภาพตามแนวของยอร์ช วอชิงตัน ท่านประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ดังนี้
1. การกระทำทุกอย่างในหมู่คณะ ควรที่จะทำโดยแสดงให้เห็นว่าเราเคารพผู้ที่ร่วมอยู่ในหมู่คณะนั้น 2. อย่าหลับในเมื่อคนอื่นๆ กำลังพูดอยู่ อย่านั่งเมื่อผู้อื่นยืน อย่าพูดในเมื่อควรจะนิ่ง อย่าเดินในเมื่อคนอื่นๆ หยุดเดิน 3. ทำสีหน้าให้ชื่นบาน แต่ในกรณีที่มีเรื่องร้ายแรงพึงทำสีหน้าให้เคร่งขรึมบ้าง 4. อย่าโต้เถียงกับผู้ที่อยู่เหนือกว่า แต่พึงเสนอข้อวินิจฉัยของตนแก่ผู้นั้นอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน 5. เมื่อผู้ใดพยายามทำงานจนสุดความสามารถแล้ว แม้จะไม่ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี ก็ไม่ควรจะตำหนิติเตียนเขา 6. อย่าใช้ถ้อยคำรุนแรงติเตียนหรือดุด่าผู้หนึ่งผู้ใด 7. อย่าาผลีผลามเชื่อข่าวลือที่ก่อความกระทบกระเทือนให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด 8. อย่ารับทำในสิ่งที่ตนไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อสัญญาอย่างใดแล้วก็ต้องทำตามสัญญานั้น หลักการพัฒนาบุคลิกภาพทางสังคมทั้ง 8 ประการของท่านอดีตประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน ดังกล่าวนี้หากปฏิบัติได้ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจหรือผู้ทำงานอื่นใด ก็น่าจะมีแนวโน้มได้รับความสำเร็จในชีวิตที่นอกเหนือจากการมีบุคลิกภาพดี
3.6.2 การพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่
ผู้ที่ทำงานควรฝึกตนให้มีความเป็นผู้ใหญ่ ดังนี้
3.6.2.1 สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง คือ พึ่งตนเอง มีความรู้สึกมั่นคง วินิจฉัยปัญหาได้ด้วยตนเอง ตัดสินใจได้ด้วยตนเอง สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้พอประมาณว่า ถ้าลงมือกระทำไปแล้วจะได้รับผลอย่างไร
3.6.2.2 พยายามวิเคราะห์ประเมินตนเองอย่างแท้จริง คือพิจารณาว่าตนมีความสามารถใดและขาดความสามารถทางใด แล้วใช้ความสามารถที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด พยายามเปลี่ยนสิ่งที่พอจะเปลี่ยนได้ สิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ สิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ก็อย่านำมาคำนึงถึงจนกลายเป็นความวิตกกังวล
3.6.2.3 ทำใจให้พร้อมในการเผชิญความจริง โดยคิดว่าในโลกนี้มีขึ้นมีลงมีทั้งสิ่งดีและไม่ดี มีทั้งคนดีมากและคนดีน้อย เราก็เหมือนคนอื่นๆ คือประสบทั้งสิ่งดีและไม่ดีในชีวิต เราอาจพบหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน และลูกน้องบางคนที่ดีมาก แต่บางคนก็ทำให้เรายุ่งยากใจในการทำงานร่วมด้วย คนบางคนเป็นคนดีตามที่เราต้องการ แต่บางคนถึงกับทำให้เราล้มหมอนนอนเสื่อ ส่วนชีวิตของเรานั้น บางตอนก็ดูราบรื่นมั่นคง บางตอนก็ทำท่าจะไปไม่ไหว คนที่มีความเป็นผู้ใหญ่คือ คนซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ยังพร้อมอยู่เสมอที่จะปรับปรุงชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ไม่หวั่นไหวไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติจนเกินกว่าเหตุ
3.6.2.4 ฝึกตนให้มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด คือ มีอารมณ์มั่นคง ไม่ปล่อยตนเป็นทาสของอารมณ์ตามธรรมชาติไปเสียหมด โดยธรรมชาติของชีวิตนั้น บางคนก็ร่าเริงมีความสุข บางครั้งก็เศร้าหมองหดหู่ บางครั้งก็โกรธเกลียดไม่ชอบใจ แต่ก็ต้องทำใจว่าชีวิตใครๆ ก็เป็นอย่างนี้ “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” การมีดีบ้างชั่วบ้างก็ทำให้ชีวิตมีรสชาติ ดังนั้นเมื่อมีความสุขก็อย่าปล่อยให้ความปิติยินดีมาทำให้เราร่าเริงจนผิดกาละเทศะ หรือเมื่อเศร้าหมองหดหู่ใจก็อย่าปล่อยตนจมอยู่กับความเศร้าโศกจนทำอะไรไม่ได้หรือขาดสมาธิในการทำงาน การยิ้มสู้เข้าไว้ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีและอย่าคิดสั้น ควรให้โอกาสแก่ตนเองในการเผชิญกับปัญหา การฆ่าตัวตายหนีความล้มเหลวเป็นวิสัยของผู้ที่ไม่มีความเป็นผู้ใหญ่
3.6.2.5 ฝึกตนให้ทำงานโดยมีการวางแผนและเป้าหมาย คือ ไม่ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามลมเพลมพัด เมื่อจะทำงานก็ควรจะถามตัวเองว่า ทำเพื่อใคร ทำอะไร ทำเมื่อใด และทำอย่างไร มีการเตรียมการล่วงหน้า กำหนดกิจกรรมต่างๆ ไว้ล่วงหน้าวิธีการดังกล่าวนี้ จะช่วยให้ก้าวหน้าอย่างมีจังหวะ และทำให้ชีวิตในแต่ละวันมีความหมายสำหรับตน
3.6.2.6 รู้จักบังคับใจตนเอง คือ ทำตนให้มีความสามารถในการ ”รอ” สิ่งที่ต้องการได้ ผู้ใดก็ตามถ้าไม่สามารถรอสิ่งที่ต้องการได้ นับว่ายังไม่เป็นผู้ใหญ่ ทั้งยังมีผลทำให้บุคลิกภาพด้านอื่นๆ พลอยเสียไปด้วย และแสดงว่ายังไม่พร้อมสำหรับการมีบุคลิกภาพที่ดี ความสามารถในการรอคอย ยังช่วยให้มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น และแก้ปัญหาทางอารมณ์ได้มาก เช่น สามารถรอคอยผู้ที่ผิดนัดได้ หรืออดทนรอการอนุมัติในบางเรื่องที่สำคัญต่องาน
3.6.2.7 ตระหนักในคุณค่าของตนเองและของผู้อื่น คือ รู้จักยอมรับในคุณค่าของผู้อื่นที่ไม่เหมือนตน เช่น คนบางคนเห็นว่าเงินและทรัพย์สมบัติคือจุดหมายปลายทางของชีวิตบางคนเห็นว่าคุณค่าที่สำคัญสำหรับเขาคือมีความรู้สูง มีผลสำเร็จทางธุรกิจบางคนยึดถืออุดมการหรืออุดมคติบางอย่างแล้วก็มุ่งมั่นไปสู่แนวความคิดนั้น บางคนหาความพอใจให้ชีวิตโดยแต่งกายสวยหรู ในสิ่งของราคาแพง แต่บางคนชอบความเป็นอยู่ง่ายๆ วันหยุดก็ยิงนกตกปลาไปตามเรื่อง ความแตกต่างระหว่างบุคคลดังกล่าว ถ้าทำใจให้ยอมรับ ไม่มองคนอื่นที่ไม่เหมือนเราว่าผิด ไม่พยายามเปลี่ยนคนอื่นให้ยึดถือเหมือนเราไปเสียหมด ก็จะทำให้เราอยู่กับเขาได้สบายใจขึ้น ทำให้มีสุขภาพจิตดี บุคลิกภาพของเราก็ดีขึ้น
3.6.2.8 พยายามปรับชีวิตให้เข้ากับสังคม คือ ทำตนให้มีความสุขในทุกสภาพของสิ่งแวดล้อม เราอาจเป็นคนชอบสันโดษ แต่ถ้าเขามีงานรื่นเริงในที่ทำงานไม่ว่าจะในระหว่างเพื่อน ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา เราก็ต้องแสดงความพอใจที่จะร่วมด้วยได้ หรือเราอาจมีวิธีทำงานที่ต่างไปจากคนอื่น แต่เราก็ต้องสามารถผ่อนปรนได้บ้างโดยไม่กระทบกระเทือนถึงอิสระในความคิดอ่านของผู้อื่น
3.6.2.9 ควบคุมตนให้คิดถึงผู้อื่นมากกว่าคิดถึงตนเอง คือ สนใจผู้อื่นมากกว่าสนใจตนเอง ช่วยเหลือการงานของผู้อื่น เอาใจใส่ในสารทุกข์สุกดิบของผู้อื่น เช่นนี้อาจจะทำให้เรามีความสุขได้ ความสุขใจเป็นปัจจัยของการมีบุคลิกภาพดีได้อีกประการหนึ่ง
3.6.2.10 ฝึกความอดทนและอดกลั้นให้กับตนเอง คือ อดทนต่อความคิดของผู้อื่นที่ขัดแย้งกับตน อดทนกับพฤติกรรมของคนบางคน อดทนกับการถูกมองข้ามในสิ่งที่ไม่อยากให้เขามองข้าม ยอมรับฟังคำวิจารณ์จากคนอื่นโดยพยายามคิดว่าคำวิจารณ์ต่างๆ เหล่านั้นจะทำให้ตนได้ปรับปรุง เรื่องที่ไม่พอใจบางเรื่องควรพยายามลืม เมื่อไม่ชอบใจใครไม่ควรใช้วิธีพร่ำบ่น เนื่องจากอาจสร้างความรำคาญให้ผู้อื่น และพลอยทำให้ผู้อื่นมีปัญหาทางอารมณ์ไปด้วย
3.6.2.11 มีความสามารถในการรับและแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบ คือไม่ควรหัวเสียหรือพร่ำพรรณาในโชคชะตาของตนเองให้ผู้อื่นรับฟังไม่หยุดหย่อน เพราะไม่ว่าจะทำอะไร มีอาชีพอย่างไร อยู่ในตำแหน่งใด หรือสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับใครก็จะต้องมีสิ่งไม่ชอบรวมอยู่ด้วยทั้งสิ้น
3.6.2.12 ใช้ความสามารถที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ทั้งตนเองและองค์การให้มากที่สุด ดังตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่มักพบว่ามีคนมากมายที่มีทักษะทำงานเก่งแต่เก็บความรู้ความสามารถเหล่านั้นใส่ลิ้นชักไว้ แล้วทำงานเท่าที่ได้รับคำสั่งให้ทำ ทำงานเพียงเพื่อแลกกับค่าตอบแทนให้พออยู่ได้ การดำเนินงานดังกล่าวนี้ มักไม่นำพาไปสู่ความก้าวหน้าหรือความสำเร็จในชีวิต
3.6.2.13 สร้างความรู้สึกพอใจที่จะได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ทั้งนี้ เพราะกฎและระเบียบทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขถ้าหากทุกคนเคารพในกฎและระเบียบนั้น กฎเกณฑ์ใดในองค์การที่เรารู้สึกว่ามันเป็นไปได้ในแง่ของการปฏิบัติ ผู้ที่มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่แล้วควรสามารถที่จะเสนอข้อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้โดยสันติวิธี โดยอ่อนน้อมถ่อมตน และโดยเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอข้อคิดเห็นวิธีการดังกล่าวนี้จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีได้ในองค์การ ส่งผลให้ทำงานร่วมกันได้โดยราบรื่น ซึ่งจะนำมาสู่ผลดีในการปฏิบัติงาน ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของงาน


แนวปฏิบัติในการพัฒนาบุคลิกภาพด้านความเป็นผู้ใหญ่ทั้ง 13 ประการ ดังกล่าว หากปฏิบัติได้โดยครบถ้วน จะส่งผลให้ดำเนินงานได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทของผู้นำในองค์การหรือพนักงานระดับใด
บทสรุป บุคลิกภาพ ซึ่งเป็นลักษณะส่วนรวม และเป็นสิ่งกำหนดทิศทางการประพฤติปฏิบัติของบุคคลนั้น เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของงาน บุคลิกภาพในด้านสติปัญญา การวิเคราะห์ ความมีเหตุผล ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสนใจใฝ่รู้ และแรงจูงใจ มักเป็นช่วยส่งผลสู่การวางแผนงานได้ถูกทิศทาง และส่งผลสู่การลงทุนลงแรงในการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ ส่วนบุคลิกภาพภายนอก ด้านการวางตน การแต่งกาย กิริยาท่าทาง การพูดและภาษาพูด มักเป็นภาพลักษณ์และจุดขาดอีกประการหนึ่งที่นอกเหนือจากการขายสินค้าและบริการ ซึ่งช่วยสร้างมนุษยสัมพันธ์ สร้างความน่าเชื่อถือ และจูงใจลูกค้าให้มาใช้บริการ บุคลิกภาพของบุคคลมีที่มาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม มนุษย์เรามีพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมต่างกันจึงส่งผลสู่ความแตกต่างระหว่างบุคคล การทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยอาจศึกษาได้จากทฤษฎีบุคลิกภาพซึ่งบางทฤษฎีให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องลักษณะของบุคคลในรูปแบบต่างๆ การศึกษาให้เข้าใจที่มาและลักษณะของคนในรูปแบบต่างๆ จากทฤษฎีบุคลิกภาพ จะช่วยให้ผู้ทำงานเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น นำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาการตนเองและผู้ร่วมเส้นทางการทำงานด้วยกันให้มีบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ เพื่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น